วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเมืองและการปกครองของไทย

 วิวัฒนาการการปกครองของไทยสมัยต่าง ๆ 

ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ได้เริ่มมีหลักฐานเด่นชัดในสมัยกรุงสุโขทัย ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการปกครองของไทยจึงจะเริ่มที่สมัยสุโขทัยนี้

 สมัยกรุงสุโขทัย
การจัดรูปการปกครองเป็น "พ่อปกครองลูก" พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง ได้แก่ ประชาชน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเสมือนพ่อกับลูก เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อนหรือประสบปัญหาใด ๆ สามารถไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง
             การปกครองแบบนี้ ถือว่าในแต่ละครัวเรือนมีพ่อเป็นหัวหน้าปกครองทุกคนในครอบครัว หลายครัวเรือนก็จะรวมกันเป็นหมู่บ้านอยู่ในปกครองของ "พ่อบ้าน" (ปัจจุบันเรียกว่าผู้ใหญ่บ้าน) ประชาชนที่อยู่ในการปกครองเรียกว่า "ลูกบ้าน" หลาย ๆ หมู่บ้านรวมกันเป็นเมืองอยู่ในปกครองของ "พ่อเมือง" หลายเมืองรวมกันเป็นประเทศอยู่ในปกครองพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเรียกว่า "พ่อขุน" ส่วนข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ เรียกว่า "ลูกขุน"
             การปกครองหัวเมือง ได้แบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช
             หัวเมืองชั้นใน เป็นหัวเมืองสำคัญอันดับหนึ่ง เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน และพระองค์ทรงปกครองหรือบัญชาการ
เองในตำแหน่งจอมทัพ
             หัวเมืองชั้นนอก เป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองลูกหลวงออกไป พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงปกครองหรือบังคับบัญชาโดยตรง
แต่ได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายหรือข้าราชการที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครองแทน
             เมืองประเทศราช ได้แก่เมืองที่พระเจ้าแผ่นดินอื่นปกครองตนเอง แต่ต้องจัดการนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด  เวลาเกิดศึกสงครามต้องยกกองทัพมาช่วยทำการสู้รบกับข้าศึก
           
สมัยกรุงศรีอยุธยา 
ไทยได้รับเอาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตลอดทั้งการจัดรูปการปกครองมาจากขอม รูปแบบ
การปกครองของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นแบบ เทวสิทธิ ซึ่งถือว่าพระเจ้าแผ่นดินมีฐานะเป็นเทพเจ้าที่อวตาร (แบ่งภาค) มาจากสวรรค์ และใช้คำนำหน้าพระนามของพระเจ้าแผ่นดินเป็น  "สมเด็จ"

รูปการปกครองแบ่งออกเป็น 4 แผนก เรียกว่า "จตุสดมภ์" คือ
          1.เวียงหรือเมือง มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า "ขุนเวียง" หรือ "ขุนเมือง" มีหน้าที่ในการปกครองท้องที่ รักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย บังคับบัญชาศาลซึ่งพิจารณาคดีอุกฉกรรจ์ และจัดการเรื่องเรือนจำ
             2.วัง มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า "ขุนวัง" มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการในราชสำนัก รักษากฎมณเฑียรบาล จัดการพระราชพิธี และมีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีเกี่ยวกับข้าราชการสนมฝ่ายในและอรรถคดีทั่วไป
            3.คลัง มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า “ขุนคลัง” มีหน้าที่เก็บรักษา รับจ่ายเงินในท้องพระคลัง เก็บภาษีอากร
ติดต่อกับต่างประเทศทางการค้า และบังคับบัญชาศาลซึ่งชำระความเกี่ยวกับราชทรัพย์
            4. นา มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า “ขุนนา” มีหน้าที่ดูแลที่หลวง เก็บทวงข้าวค่านาจากราษฎร จัดเตรียมเสบียงอาหารและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับที่นาและสัตว์ที่ใช้ในการทำนา อันได้แก่ โค กระบือ

            ในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมากที่สุด โดยแยกราชการฝ่ายทหารกับราชการฝ่ายพลเรือนออกจากกัน ตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก มีอำนาจกำกับการและบังคับบัญชากิจการฝ่ายพลเรือนทั่วไป และ สมุหกลาโหม มีอำนาจกำกับการและบังคับบัญชากิจการฝ่ายทหาร ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีนี้สูงกว่าเสนาบดี จตุสดมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อ จตุสดมภ์ เสียใหม่ดังนี้

           เวียง หรือเมือง         เป็น       นครบาล
          วัง                            เป็น       ธรรมาธิกรณ์
          คลัง                         เป็น        โกษาธิบดี
          นา                           เป็น        เกษตราธิบดี

สมัยกุรงธนบุรี 
เมื่อสิ้นสุดสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
แต่ในช่วงนี้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามและสภาพทางเศรษฐกิจตกต่ำ ทรงมีภาระหนักในการกอบกู้เอกราชจากศัตรูและเร่งสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในชาติ โดยการปราบก๊กต่าง ๆ ให้หมดไป และทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประชาชนพ้นจากสภาพความอดอยาก
              สมัยกรุงธนบุรีนี้ รูปการปกครองจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีก็เฉพาะการปรับปรุงด้านกิจการทหารเท่านั้น เช่น จัดให้มีกำลังรบทางเรืออันเป็นต้นกำเนิดของกองทัพเรือในปัจจุบัน เป็นต้น
           
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 
การจัดรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงแรก คงใช้แบบจตุสดมภ์เช่น
เดียวกับที่เคยใช้มาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พอถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สภาพบ้านเมืองเจริญขึ้นตามลำดับ กิจการบ้านเมืองก็เพิ่มมากขึ้น รูปการปกครองที่ใช้มาแต่ก่อนไม่ค่อยจะเหมาะสมกับกาลสมัย พระองค์จึงได้
ทรงปฏิรูปแบบการปกครองเสียใหม่ในปี พ.ศ.2435 โดยทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ แล้วจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นมาแทน ตามแบบอย่างประเทศในยุโรป ทั้งหมด 12 กระทรวง แต่ละกระทรวงมีเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
              ในด้านการปกครองหัวเมืองได้ทรงยกเลิกระบบกินเมืองจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดระดับมณฑล มีข้าหลวงประจำจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตามลำดับ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ถึงแม้จะได้มีการปฏิรูปการปกครองของไทยในปี พ.ศ.2435 แล้วก็ตาม ระบอบการปกครองของไทยก็ยังคงเป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดรวมอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์หรือตามที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจในการปกครองประเทศยังไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชน
             ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ข้าราชการพลเรือน อันมี พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร์” ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎร์สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ประเทศไทยจึงมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การปกครองของไทยในปัจจุบัน
ประเทศไทยได้ปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตลอดมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475
           คำว่า “ประชาธิปไตย” แปลว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากปวงชน  เป็นการปกครองที่ยึดเอาความเห็น
หรือความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อำนาจในการปกครองประเทศเป็นของปวงชน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของรัฐบาล ตลอดจนออกเสียง (ผ่านองค์การของประชาชน) ไม่ไว้วางใจรัฐบาล
           การปกครองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายเป็นกติกาที่จะกำหนดบทบาทหรือขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของแต่ละบุคคล ในการดำเนินการปกครอง กฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       
รัฐธรรมนูญ
เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่น ๆ จะขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ กฎหมาย
รัฐธรรมนูญจะเป็นแม่บทในการกำหนดรูปแบบและกระบวนการในการปกครอง ตลอดถึงกำหนดหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน นับแต่ประเทศไทยได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้ว
            กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันตราขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม  2540 ได้กำหนดสถาบันทางการเมืองอันเป็นองค์ประกอบในการปกครองตามระบอบประชาชนธิปไตยของไทยที่สำคัญ ๆ ดังนี้
       
พระมหากษัตริย์ 
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้ พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก กล่าวคือทรงทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนาที่ประชาชนชาวไทยเคารพนับถือ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
       
รัฐสภา
เป็นองค์การสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก เป็นผู้ให้ความเห็นชอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่วมกันของ 2 สภา  ตามมาตรา 193 และ ทั้ง 2 สภามีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน  ตลอดจนการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้
         
สภาผู้แทนราษฎร
ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  500 คน  โดยสมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและจาก
การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต   อยู่ในวาระคราวละ  4  ปี  ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยในการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน  เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด  ต้องออกเยี่ยมเยียน  สอบถามทุกข์สุขของประชาชนอยู่เสมอ  เพื่อนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาแจ้งให้รัฐบาลได้รับทราบ  และเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป
            กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองของไทย ฉบับปัจจุบัน  ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จะต้องสังกัดพรรคการเมือง          
         
วุฒิสภา
ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง  จำนวน  200 คน  อยู่ในวาระคราวละ  6 ปี  ทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
             ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรต่างก็มีประธานและรองประธานสภาของตน เวลาแยกกันประชุมก็เรียกว่า ประชุมวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าประชุมร่วมกันก็เรียกว่า “ประชุมรัฐสภา” ในการประชุมรัฐสภานี้ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา
         
คณะรัฐมนตรี
หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  คณะรัฐบาล   เป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน  รัฐธรรมนูญ
ของไทยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  เป็นหัวหน้า  และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน  35 คน  ร่วมกันรับผิดชอบการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน  โดยการยินยอมขององค์การที่เป็นตัวแทนของประชาชน  อันได้แก่  รัฐสภา  ดังนั้น จึงเท่ากับคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นชอบของประชาชนนั่นเอง
       
ศาล 
เป็นองค์การที่ใช้อำนาจตุลาการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  คือ  ทำหน้าที่ในการพิจารณา
พิพากษาอรรถคดี  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่กรณี  กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า  ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี  ศาลยุติธรรม  มี 3 ชั้น  คือ  ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
             กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศของไทยฉบับปัจจุบัน นอกจากจะได้บัญญัติเกี่ยวกับองค์การที่ใช้อำนาจทั้ง 3 ดังกล่าวมาแล้ว ยังได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดพรรคการเมืองอีกด้วย
           
ศาลรัฐธรรมนูญ
ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนหนึ่ง  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก  10 คน  มีวาระ
การดำรงตำแหน่ง  9 ปี   และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย  มีบทบาทหน้าที่ให้ความเห็นและวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ  หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  ที่ไม่ถูกต้องหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาส่งมาให้วินิจฉัย  แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
             ศาลปกครอง  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ  รัฐวิสาหกิจ กับเอกชน  อันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย   ศาลปกครองประกอบด้วย  ศาลปกครองสูงสุด  ศาลปกครองชั้นต้น  และอาจมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้
       
พรรคการเมือง 
ได้แก่ คณะบุคคลที่มีผลประโยชน์คล้ายคลึงกัน มีความต้องการทางการเมืองอย่างเดียวกัน
ได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะเข้าควบคุมและกำหนดนโยบายของรัฐ โดยการเอาชนะการเลือกตั้ง
           พรรคการเมืองเป็นองค์การทางการเมืองของประชาชน เป้าหมายของการดำเนินงานของพรรคการเมืองก็คือ ชนะการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากในสภา และจัดตั้งรัฐบาล บทบาทสำคัญของพรรคการเมืองประการหนึ่งก็คือให้ความรู้ทางด้านการ
เมืองแก่ประชาชน คัดเลือกบุคคลที่พรรรคเห็นว่าเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังคำกล่าวที่ว่า “พรรคเลือกคน และบุคคลเลือกพรรค”
              การตั้งพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง เช่น การจัดหาสมาชิกการจดทะเบียน เป็นต้น และการดำเนินงานทางการเมืองจะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เช่น การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด คือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งหมด เป็นต้น
             อนึ่งพรรคการเมืองที่กฎหมายไม่อนุญาตให้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย คือ พรรคคอมมิวนิสต์ เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
         
การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการแสดงออกซึ่ง
เจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศในอันที่จะมอบความไว้วางใจให้ตัวแทนของปวงชนไปใช้อำนาจแทนตน โดยการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   สมาชิกวุฒิสภา  สมาชิกสภาท้องถิ่น  และผู้บริหารท้องถิ่น
            เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะออกไปหาเสียง ประกาศนโยบายของตนและของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดว่าเมื่อตนได้รับเลือกตั้งแล้วจะไปทำอะไรบ้างอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดศรัทธาและให้การสนับสนุนออกเสียงลงคะแนนให้ การเลือกตั้งจึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้รับรู้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ  ทางการเมือง
            สำหรับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง จะต้องใช้ความคิดให้ดีก่อนจะตัดสินเลือกผู้สมัครคนใดเป็นตัวแทนของตน เพราะผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ไปใช้สิทธิต่าง ๆ ทางการเมืองการปกครองแทนเรา ถ้าได้ผู้แทนที่ไม่ดีอาจจะนำความเสียหายมาสู่ประชาชนผู้เลือกตั้งได้ วิธีพิจารณาแบบง่าย ๆ ก็คือ จะต้องพิจารณาถึงภูมิหลังว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ เคยทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมบ้างหรือไม่ ตลอดทั้งมีความรู้ความสามารถพอจะเป็นปากเสียงแทนตนได้หรือไม่
             คำว่า “มีความรู้ความสามารถ” นั้นมิได้หมายความว่าบุคคลนั้น จะต้องมีวุฒิการศึกษาสูง ๆ มีปริญญามาก ๆ นั่นเป็นแต่เพียงเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามามาเท่านั้น เขาอาจจะไม่มีความรู้เลยก็ได้  “ความรู้ความสามารถ”  ในที่นี้หมายถึงบุคคลที่รู้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริงและรู้ถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้แทนราษฎร และมีความสามารถที่จะนำความเดือดร้อนหรือความต้องการของประชาชนไปแจ้งให้รัฐบาลทราบได้ ถ้าเลือกตั้งได้บุคคลเช่นนี้เป็นตัวแทนของประชาชนก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองเจริญ ความผาสุกก็จะเกิดแก่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง
นั่นเอง
            ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา   ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจะออกไปหาเสียงดังเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้จะกระทำได้เฉพาะการแนะนำตัวและเสนอผลงานที่ผ่านมาเท่านั้น

บทบาทของประชาชนในการเสริมสร้างประชาธิปไตย
             การปกครองในระบอบประชาธิปไตย   ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการกระทำและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ประชาธิปไตยจะเจริญหรือเสื่อมลง    ขึ้นอยู่กับบทบาทของประชาชนภายในชาติเป็นสำคัญ  วิธีการเสริมสร้างประชาธิปไตย สามารถทำได้หลายทาง ประชาชนต้องรู้จักใช้และรักษาสิทธิทางการเมืองของตน เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เมื่อมีกิจกรรมทางการเมือง เช่น มีการเลือกตั้งก็ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทุกคนมีสิทธิเหมือนกันและมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และต้องรู้จักรักษาสิทธิของตนด้วย คือไม่ยอมให้บุคคลอื่นมาแอบอ้างใช้สิทธิทางการเมืองของตน
            อนึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และจะต้องไม่เป็นการก้าวก่ายหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่คู่กันกับสิทธิ
           ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

การปกครองของไทยในปัจจุบัน
ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ มีกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นไปตามหลักการ มีการปฏิวัติรัฐประหารยึด อำนาจ ตั้งคณะรัฐบาลและกำหนดบทบัญญัติขึ้นเอง ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพดังที่ควรจะเป็น ดังนั้น จึงเกิดเหตุการณ์ ใหญ่ขึ้นถึง 3 ครั้ง คือ

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจเผด็จการ อันประกอบไปด้วยประชาชน จากทุกสาขาอาชีพ ภายใต้การนำของนิสิต นักศึกษาจากทุกสถาบัน เป็นเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองการ ปกครองของไทย เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้ เกิดความหวงแหนและร่วมกันธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต และความยากลำบากของเพื่อนร่วมชาติ

เหตุการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีนิสิตนักศึกษาและประชาชนร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านการกลับมาของกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งไปเป็นจำนวนมาก

และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 มีกลุ่มต่อต้านอำนาจเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นอีก ผลจากการเรียกร้องในครั้งนี้ นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

สถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ มีดังนี้
1. ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล
2. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิก 2 ส่วน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งประชาชนเลือกตั้งเข้ามาทั้งหมด และวุฒิสมาชิก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามการเสนอ ขึ้นโปรดเกล้าฯ ของนายกรัฐมนตรี
3. ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล มีหน้าที่พิจารณาคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบัญญัติของกฏหมาย เพื่อให้เกิดความ ยุติธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ศาลเป็นสถาบันอิสระจากรัฐสภาและรัฐบาล มีคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ทำหน้าที่ควบคุมการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ เพื่อให้ศาลเป็นสถาบันที่ ธำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง


ขอบคุณที่มา
http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/so02/so20_6.html
http://members.tripod.com/78_2/now.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น