วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กระบวนการแบบเป็นขั้นตอน

กระบวนการแบบเป็นขั้นตอน

          บทความส่วนใหญ่ในหนังสือคู่มือฯ เล่มนี้เขียนขึ้นมาในแบบที่เหมาะกับการนำไปใช้ในการจัดอภิปรายกลุ่ม มีหลากหลายวิธีที่จะใช้ในการประชุมหรืออภิปรายกลุ่ม สิ่งสำคัญเป็นเรื่องของการรู้จักใช้วิธีการที่จะต้องนำมาทดลองทำดู ถึงกระนั้นก็จำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะต่าง ๆ ด้วย

วิธีจัดกลุ่ม :
1.   หากผู้เข้าร่วมยังไม่รู้จักคุ้นเคยกัน น่าจะเป็นประโยชน์กว่าถ้าผู้จัดอบรมจะจัดพวกเขาเป็นกลุ่ม ๆ
2.   วิธีง่ายวิธีหนึ่ง คือให้ผู้เข้าร่วมประชุมจับฉลากหมายเลข ตัวอย่างเช่น ถ้ามีผู้เข้าร่วม 50 คน และอยากให้มี 6 กลุ่ม ๆ ละ 8-9 คน ก็จัดฉลากหมายเลข 1-6 ให้พวกเขาจับเรียงกันไป
3.   แน่นอน ยังมีวิธีสร้างความสนุกสนานในการจัดกลุ่มด้วย อาทิเช่น เขียนชื่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไว้ในแผ่นกระดาษ แล้วให้แต่ละคนที่จับได้ชื่อสัตว์นั้น แสดงท่าทางของสัตว์นั้น ๆ ให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด แล้วไปอยู่ในกลุ่มเดียวกัน วิธีสร้างความสนุกสนานเช่นนี้ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศผ่อนคลายเป็นประโยชน์ต่อการอบรมหรือการอภิปรายที่จะตามมาด้วย
4.  ควรจัดให้แต่ละกลุ่มมีสมาชิกระหว่าง 6-10 คน หากมีผู้เข้าร่วมไม่มาก หรือมีเวลาอบรมหรืออภิปรายน้อย ก็อาจจัดให้มีกลุ่มละ 3-4 คน
5.  เพื่อไม่ให้เสียเวลามากนัก ควรกำหนดสถานที่ประชุมกลุ่มย่อยของแต่ละกลุ่มไปเลย อาทิเช่น กลุ่ม ก อยู่ตรงหน้าบอร์ด  กลุ่ม ข อยู่ที่ระเบียงข้างนอก  กลุ่ม ค อยู่บริเวณห้องครัว เป็นต้น

คำแนะนำ :
          ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะแยกย้ายกันไปประชุมกลุ่ม จำเป็นต้องได้รับการชี้แจงให้ชัดเจนสั้น ๆ ให้ทุกคนทราบถึงสิ่งสำคัญบางประการ และแม้จะชี้แจงแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากจะเขียนคำแนะนำเหล่านั้นไว้ในกระดาษ หรือบนกระดานดำ เพื่อช่วยให้แต่ละกลุ่มปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว

คำแนะนำเหล่านั้นเป็นเรื่องต่อไปนี้ :
1.             เริ่มต้นด้วยการให้สมาชิกแต่ละคนแนะนำตัวเองสั้น ๆ
2.             แต่ละกลุ่มเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นผู้นำการประชุม และอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการของกลุ่ม
3.             ผู้นำการประชุมเชิญให้สมาชิกคนหนึ่งสวดเปิดประชุม
4.             ผู้นำการประชุมกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับขั้นตอนการประชุม
5.             ผู้นำการประชุมอ่านคำถามหรือหัวข้อที่จะต้องนำมาอภิปรายกันในการประชุมครั้งนั้น

กฎระเบียบที่ควรมีในการประชุมกลุ่ม :
1.  สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมเต็มที่ในการประชุม
2.  ทุกคนย่อมได้รับโอกาสให้พูดเท่าเทียมกัน
3.   ต้องไม่มีใครคนหนึ่งพูดอยู่คนเดียว
4.  ผู้นำการประชุมจะเป็นผู้ให้สัญญาณเตือน... เพื่อบ่งบอกว่าผู้ที่กำลังพูดนั้นมีเวลาเหลืออีก 30 วินาที
5.   ไม่แย่งกันพูด พูดกันทีละคน เวลาคนหนึ่งพูด คนอื่นก็ควรตั้งใจฟังด้วย

ผู้นำการประชุม :
1.  บทบาทของผู้นำการประชุม คือ พยายามให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมเต็มที่ และทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะพูดออกมา
2.  ผู้นำการประชุมต้องไม่พูดมาก หรือพูดอยู่คนเดียว เขามีหน้าที่คอยกระตุ้นและสนับสนุนให้คนอื่น ๆ ในกลุ่มพูดมากกว่า
3.   ผู้นำการประชุมควรรู้จักใช้ปฏิภาณไหวพริบในการขัดจังหวะผู้ที่พูดมาก เพื่อควบคุมการอภิปราย อาทิเช่น ผู้นำการประชุมควรแทรกเข้ามาตอนที่ผู้นั้นหยุดเว้น ก่อนที่จะพูดต่อแล้วบอกทำนองว่า “ที่คุณกำลังพูดอยู่นั้นเป็นจุดที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าขอเสนอว่า เราน่าจะนำเรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้งหลังจากที่ทุกคนได้มีโอกาสพูดกันแล้วจะดีกว่า” หรือไม่ก็อาจพูดทำนองว่า “คุณครับ เราชอบที่คุณพูดนั้นนะครับ แต่ขอให้หนุ่มน้อยข้าง ๆ แสดงความคิดเห็นของวัยรุ่นดูว่าเขาคิดอย่างไรดีไหมครับ”
4.    ผู้นำการประชุมควรเอาใจใส่ดูด้วยว่าอาจมีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มยังรู้สึกประหม่าไม่กล้าพูด ผู้นำฯ ควรดูแลอย่าให้คนอื่นในกลุ่มเพ่งความสนใจไปที่ตัวเขาให้มากนักและอย่าเรียกร้องให้เขาต้องพูดแบ่งปันออกมาในเมื่อเขายังไม่พร้อม ผู้นำฯ อาจช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลายลงด้วยการถามคำถามง่าย ๆ เพื่อเขาจะกล้าพูดออกมาโดยไม่ลำบากนัก อาทิเช่น อาจถามเขาว่า “จากที่คุณเล่านั้น คุณช่วยบอกพวกเราได้ไหมว่าคุณรู้สึกอย่างไรตอนที่คุณจากหมู่บ้านเข้าไปอยู่ในเมือง” ดังนี้ เป็นต้น
5.  หากผู้นำการประชุมมีความรู้สึกว่าการอภิปรายกันในเรื่องนั้นกำลังจะควบคุมไม่อยู่ เขาก็ควรเสนอแนะให้เปลี่ยนเรื่อง หรือไม่ก็ขอร้องให้ใครคนใดคนหนึ่งช่วยสรุปเรื่องที่กำลังพูดคุยกันนั้น

คำถาม/ภารกิจที่ต้องปฏิบัติ :
      มีคำถามหรือภารกิจหลากหลายที่ผู้นำการประชุมพอจะกำหนดให้สมาชิกในกลุ่มทำได้ อาทิเช่น เรื่องต่อไปนี้
1.  ให้สมาชิกผลัดเวรกันอ่านบทความดัง ๆ ให้คนอื่นฟัง
2. แล้วให้มีเวลาเงียบสัก 2-3 นาที โดยแนะนำให้สมาชิกอ่านบทความนั้นเงียบ ๆ พร้อมทั้งโน้ตข้อคิดที่ได้จากบทความนั้นไว้
3.  เชิญสมาชิกกล่าวข้อความหรือถ้อยคำกินใจสำหรับแต่ละคนออกมา
4.  เมื่อทุกคนผลัดกันทำเช่นนั้นแล้ว ก็ให้สมาชิกแต่ละคนอธิบายว่าทำไมจึงรู้สึกสะกิดใจจากข้อความนั้น ๆ พร้อมทั้งชี้แจงเพิ่มเติมด้วยตัววอย่างจากประสบการณ์ของตน
5. เชิญสมาชิกให้บ่งบอกประโยคหรือวลีที่เขาไม่เข้าใจ หรือที่เขาเห็นว่ากำกวม หรือที่เขาไม่เห็นด้วย แล้วเปิดโอกาสให้นำสิ่งเหล่านี้มาอภิปรายกัน

การแบ่งปัน :
1. ในการแบ่งปันกัน สมาชิกแต่ละคนกล่าวออกมาด้วยใจจริงจากประสบการณ์ส่วนตัวของตน โดยมักจะพูดทำนองนี้ว่า “ผมรู้สึกจริง ๆ ในเรื่องนี้ว่า...
      “ดิฉันชอบวิธีที่...
      “มีความหมายเป็นอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้า...”
2.    ในการแบ่งปันกันไม่มีอะไรที่เรียกว่า “ถูก” หรือ “ผิด” ความเข้าใจและความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละคนไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด จึงต้องไม่มีการตัดสินใด ๆ ในเรื่องถูกหรือผิดในการแสดงความคิดเห็น
3.      ทุกคนย่อมมีสิ่งที่ตนจะแบ่งปันเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เด่นชัดเพียงเล็กน้อยก็ตาม แม้แต่คำพูดที่ว่า “ดิฉันไม่ทราบว่าจะพูดอะไรดี” หรือที่ว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะพูดบางอย่างต่อหน้าท่านผู้มีการศึกษาทั้งหลาย” เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการแบ่งปันที่ควรได้รับการตอบรับด้วยเช่นกัน
4.    การแบ่งปันความคิดเห็นแตกต่างจากการอภิปราย การแบ่งปันมุ่งเป็นการเปิดใจกว้างต่อกัน ไม่จำเป็นต้องมีการถกเถียงหรือวิจารณ์ในสิ่งที่แต่ละคนพูดแบ่งปันออกมา การแบ่งปันเป็นเสมือนการเปิดกว้างที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงมติตัดสินใจใด ๆ หรือมีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสิ่งที่ผู้แบ่งปันกล่าวออกมานั้นเลย
5. กระบวนการแบ่งปันเป็นเสมือนการเชื้อเชิญให้แต่ละคนกล่าวออกมาถึงสิ่งที่ใจตนคิดอยู่ในตอนนั้น การแบ่งปันช่วยให้ผู้ที่รู้สึกไม่มั่นใจกับความคิดเห็นของตนเกิดมีความมั่นใจมากขึ้น ฉะนั้นการแบ่งปันจึงเป็นเพียงขั้นตอนก้าวแรกเท่านั้น

การอภิปราย :
       การอภิปรายมุ่งเน้นให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกันมากกว่าการแบ่งปันกัน การเข้ามามีส่วนร่วมกันเช่นนี้ แสดงออกในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะเป็นไปในทำนองนี้
1.    เห็นด้วย
“ผมเห็นด้วยเต็มที่กับสิ่งที่คุณเพิ่งกล่าวมานั้น ที่จริงแล้ว ผมอยากจะบอกว่าจากประสบการณ์ ผมเองก็...”
2.     ระดมสมอง
“นั่นเป็นจุดที่น่าสนใจยิ่ง บางทีเราน่าจะฟังจากทุกคนในกลุ่มว่า แต่ละคนมีความคิดเช่นไรต่อเรื่องที่ว่านี้...”
3.   ผนวกความคิดเห็น
“ดิฉันคิดว่าคุณสาลี่พูดถูกต้องทีเดียวว่า... แต่ดิฉันก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณไมตรี บางทีเราน่าจะเอาความคิดเห็นทั้งสองมาพิจารณาร่วมกันแบบสองด้านของเหรียญจะดีไหมคะ...”
4.    โต้แย้ง
“ผมไม่คิดว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณเพิ่งกล่าวมานั้น บางทีถ้าคุณพิจารณาถึงหัวข้อเรื่อง... คุณก็อาจจะเปลี่ยนใจมายอมรับว่า...”
5.  ชี้แจงเพิ่มเติม
“ดิฉันชื่นชอบสิ่งที่คุณกล่าว แต่ก็คิดว่าเพื่อจะให้คนอื่น ๆ เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น คุณน่าจะชี้แจงเพิ่มเติมว่า...”

การนำเสนอรายงานการประชุมกลุ่ม :
   หลังจากการประชุมหรือการอภิปรายกลุ่มย่อยแล้วควรมีเวลาให้แต่ละกลุ่มนำผลการประชุมที่ได้มารายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ มีหลากหลายวิธีที่สามารถนำมาใช้ในการนำเสนอรายงาน อาทิเช่น
1. ให้เลขานุการแต่ละกลุ่มรายงานสั้น ๆ ถึงผลการประชุมในกลุ่มของตน โดยอาจใช้แผ่นใสกับเครื่องฉายภาพนิ่ง หรือไม่ก็ใช้กระดาษแผ่นใหญ่ ๆ เขียนเฉพาะหัวข้อสำคัญ ๆ ที่ได้จากการประชุมกลุ่ม
2.  ถ้าทุกกลุ่มอภิปรายในหัวข้อหรือเรื่องเดียวกัน ก็จะน่าเบื่อมากถ้าจะให้ทุกกลุ่มออกมารายงาน น่าจะให้เลขาฯ ของ 3-4 กลุ่มมาพบกัน เพื่อพิจารณาสิ่งที่จดไว้ แล้วจัดทำเป็นรายงานสรุปขึ้นมาเพียงฉบับเดียวสำหรับรายงานในที่ประชุมใหญ่
3.  ให้ทุกกลุ่มเตรียมพร้อมที่จะนำเสนอรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ โดยใช้วิธีจับฉลากดูว่ากลุ่มใดบ้างจะต้องนำเสนอรายงานก่อน-หลัง แต่ถ้าหากมีถึง 20 กลุ่ม และมีเวลานำเสนอได้ราว 6 กลุ่มเท่านั้น ก็ให้ใช้วิธีจับฉลากดูว่ากลุ่มใดจะเป็นผู้นำเสนอรายงานก่อน-หลัง ส่วนกลุ่มอื่นที่เหลือก็ต้องจัดทำรายงานกลุ่มด้วย เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับตนเอง
4. จำเป็นต้องจัดให้มีเวลาเพียงพอที่กลุ่มต่าง ๆ จะจัดเตรียมนำเสนอรายงาน โดยจัดให้มีเวลาพักพอสมควรหลังจบการอภิปรายก่อนจะมีการนำเสนอรายงาน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการอภิปรายระหว่าง 10:00-12:00 น. ก็ให้มีช่วงพักยาวตอนอาหารเที่ยง แล้วไปเริ่มขึ้นตอนนำเสนอรายงานเวลา 15:00 น. เป็นต้น
5. สนับสนุนให้มีการใช้การสร้างสรรค์หลากหลายวิธีในการนำเสนอรายงาน อาทิ ใช้วิธีสวมบทบาทแสดงสมมุติ วิธีแสดงละครสั้น หรือละครใบ้ วิธีเล่านิทาน วิธีวาดเป็นภาพการ์ตูน วิธีใช้เศษวัสดุปะติดกันเป็นภาพหรือเรื่องราว วิธีใช้แผนภูมิ วิธีใช้แผ่นโปสเตอร์ ฯลฯ เป็นต้น หากเป็นการนำเสนอรายงานแบบหลากหลายวิธีเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องจัดเวลาให้เพียงพอสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ที่จะเตรียมการ และมีเวลาพอที่แต่ละกลุ่มจะนำเสนอรายงานตามวิธีการของตนนั้นด้วย



ขอบคุณที่มา
หนังสือ “เสวนา คู่มือทรัพยากรการเสวนาระหว่างศาสนาสำหรับชาวคาทอลิกในทวีปเอเชีย” หน้า (10)-(14)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น